มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว 8 วิธี

มะเร็งเม็ดเลือดขาว จัดเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงสูงและพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย ทั่วโลกในปี พ.ศ.2543 พบผู้ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 256,000 ราย และในจำนวนนี้เสียชีวิตมากถึง 209,000 ราย ส่วนในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2544-2546 พบโรคนี้อยู่ใน 10 ลำดับโรคมะเร็งพบบ่อยทั้งในเพศชาย (4,205 ราย) และเพศหญิง (3,437 ราย)

มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย)

มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า โรคลูคีเมีย หรือ ลิวคีเมีย (Leukemia) คือ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนในไขกระดูกมีการเจริญแบ่งตัวเร็วผิดปกติและกลายเป็นเซลล์ผิดปกติ (ทำให้ไม่สามารถเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวตัวแก่ที่ทำหน้าที่แบบเม็ดเลือดขาวปกติ และมีการแก่ตัวและเซลล์ตายช้ากว่าปกติ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีของปริมาณเม็ดเลือดขาวปกติหรือต่ำกว่าปกติได้) และสามารถแพร่กระจายแทรกซึมไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ได้ เช่น ต่อมน้ำเหลือง สมอง ตับ ม้าม อัณฑะ ผิวหนัง กระดูก รวมทั้งแทรกซึมในไขกระดูก ทำลายกระบวนการสร้างเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดในไขกระดูก ก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จนเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้น อาการของโรคจึงเกิดจากความผิดปกติของทั้งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด

การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว 8 วิธี

วิธีการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยทั่วไปจะใช้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นหลัก รังสีรักษาและการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด จะเป็นการรักษาเสริมเพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้นหรือหาย ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว การตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และอายุของผู้ป่วย โดยการรักษานั้นจะประกอบไปด้วย

  1. การรักษาตามอาการและแก้ไขภาวะแทรกซ้อน เช่น การให้เลือด ให้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพเพื่อรักษาโรคติดเชื้อ เป็นต้น เป็นการรักษาที่มีความสำคัญอย่างมากตั้งแต่ในระยะแรก (โดยเฉพาะในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน) เพราะในช่วงแรกที่ได้รับการวินิจฉัยผู้ป่วยมักมีความผิดปกติหลายอย่าง เช่น มีไข้สูง ซีด อ่อนเพลีย มีเลือดออกผิดปกติ หายใจลำบาก ขาดน้ำ การทำงานของไตผิดปกติ เกิดการติดเชื้อ เป็นต้น แพทย์จึงจำเป็นต้องทำการรักษาภาวะต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อให้ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่พร้อมก่อนที่จะให้การรักษาโรคต่อไป เพราะการให้ยาเคมีบำบัดในช่วงแรกที่มีภาวะเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลกระทบจากฤทธิ์ของยาได้หลายอย่างและรุนแรง
  2. การเฝ้าติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด (Watchful waiting) โดยที่ยังไม่ให้การรักษาใด ๆ ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CLL ถ้าผู้ป่วยยังไม่มีอาการ
  3. การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) นอกจากแพทย์จะให้การรักษาตามอาการและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว การรักษาที่จำเป็นและมีผลต่อการควบคุมโรค คือ การให้ยารักษามะเร็งหรือยาเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกราย (ยกเว้นในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CLL ซึ่งอยู่ในระยะแรกที่ยังไม่มีอาการ โรคจะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ แพทย์จะเลือกให้การรักษาแบบประคับประคองและเฝ้าติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด และจะเริ่มให้ยาเคมีบำบัดเมื่อผู้ป่วยมีอาการชัดเจนแล้วหรือมีการติดเชื้อซ้ำซาก เพราะในขณะที่ยังไม่มีอาการ การให้ยาเคมีบำบัดจะมีผลข้างเคียงซึ่งอาจไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ) ซึ่งจะมีทั้งแบบกิน แบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และแบบฉีดเข้าทางน้ำไขสันหลัง ในปัจจุบันมียาเคมีบำบัดอยู่ด้วยกันหลายชนิด ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับชนิดและความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่จะใช้ยาหลายชนิดร่วมกันร่วม นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาอื่น ๆ ร่วมกับยาเคมีบำบัดด้วย เช่น สารภูมิต้านทานกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibody), ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดง, ยาสเตียรอยด์อย่างเพรดนิโซโลน (Prednisolone) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ALL, ยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CLL เป็นต้น
  4. การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นการรักษาด้วยยาหรือสารอื่นที่สามารถทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งได้โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ แต่ยายังมีราคาแพงเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงได้ โดยยาที่มีการนำมาใช้ เช่น สารภูมิต้านทานกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibody), ยายับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส (Tyrosine kinase inhibitor) เช่น อิมาทินิบ (Imatinib) เป็นต้น สำหรับยายับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส แพทย์จะใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CML และตรวจพบ Philadelphia chromosome (เป็นโครโมโซมที่มียีนผิดปกติ เป็นตัวกำหนดการสร้างไทโรซีนไคเนสซึ่งเป็นตัวเร่งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว) ซึ่งยาช่วยในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ทำให้การรักษาได้ผลดีมากยิ่งขึ้น
  5. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Biologic therapy) โดยการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon) วิธีนี้สามารถใช้ได้กับเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (CLL และ CML) ซึ่งยาไปกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดนั่นเอง
  6. การเปลี่ยนถ่ายพลาสม่า (Leukapheresis) เพื่อลดจำนวนเม็ดเลือดขาวอย่างรวดเร็ว จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงมากหรือมีอาการของเม็ดเลือดขาวอุดตันตามหลอดเลือด (Hyperleukocytosis syndrome)
  7. การใช้รังสีรักษา (Radiation therapy) แพทย์จะพิจารณาฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันบางรายที่มีความเสี่ยงในการลุกลามเข้าสู่สมอง และในผู้ป่วยบางรายที่มีก้อนบวมมากเพราะเซลล์มะเร็งสะสม เช่น ตับโต ม้ามโต ก้อนที่อัณฑะ ต่อมน้ำเหลืองโต
  8. การปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Bone marrow/Stem cell transplantation) โดยใช้ไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดของผู้บริจาค (Allogeneic bone marrow/stem cell transplantation) หรืออาจใช้ไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดของผู้ป่วยเอง (Autologous bone marrow/stem cell transplantation) ซึ่งแพทย์จะทำการเก็บไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดในขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในระยะโรคสงบ (Remission) ไว้ใช้ในภายหลัง (ปัจจุบันนิยมทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดมากกว่าไขกระดูก เพราะใช้เวลาฟื้นตัวสั้นกว่าและมีการติดเชื้อน้อยกว่า) การรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวหรือหายขาดจากโรคได้ แต่แพทย์อาจพิจารณทำในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคสูง และในผู้ป่วยที่เกิดโรคกลับเป็นซ้ำ (Relapse) หลังจากให้ยาเคมีบำบัดจนโรคสงบไปสักระยะหนึ่งแล้ว
  9. การผ่าตัด เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคของไขกระดูกซึ่งเป็นทั่วตัว ดังนั้นจึงไม่สามารถทำการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดนี้ได้

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การหมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอ รวมทั้งสังเกตบุตรหลาน และรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ

You Missed